บทความ
ผื่นขึ้นหน้าเกิดจากอะไร หน้าเป็นผื่นคัน ผื่นเม็ดเล็กๆ ใช้อะไรดี
แชร์ :

ผื่นขึ้นหน้าเกิดจากอะไร หน้าเป็นผื่นคัน ผื่นเม็ดเล็กๆ ใช้อะไรดี

ผื่นขึ้นหน้า เกิดจากอะไร
อยากอ่านอะไร จิ้มที่หัวข้อได้เลย!

ผื่นขึ้นหน้าเป็นปัญหาผิวที่หลายคนเคยเผชิญ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของผื่นแดง ตุ่มเล็กๆ ซึ่งอาการเหล่านี้อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมา และสร้างความกังวลใจไม่น้อย เพราะใบหน้าเป็นส่วนที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุด หลายคนพยายามหาวิธีจัดการด้วยตัวเอง ทั้งทาครีม เปลี่ยนสกินแคร์ หรือใช้ยารักษาสิวโดยเข้าใจผิดว่าผื่นคือสิว จนบางครั้งอาการกลับแย่ลงแทนที่จะดีขึ้น ในบทความนี้ Vincent Clinic Aesthetic จะพามาเจาะลึกให้ทุกคนรู้จักเกี่ยวกับผื่นว่ามีลักษณะเป็นแบบไหน สาเหตุที่ทำให้เกิดผื่น รวมถึงวิธีดูแล วิธีป้องกันค่ะ

Key Takeaways

  • ผื่นขึ้นหน้า อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น แพ้ผลิตภัณฑ์, มลภาวะ, เชื้อรา, โรคผิวหนังเรื้อรัง หรือการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน
  • ลักษณะของผื่น อาจเป็นตุ่มแดง คัน ลอก หรือมีหนอง ซึ่งแตกต่างจากสิวและต้องการการดูแลเฉพาะทาง
  • ช่วงวัยต่างกัน มีแนวโน้มเกิดผื่นแตกต่างกัน เช่น ผื่นภูมิแพ้ในเด็ก, ผื่นจากฮอร์โมนในวัยรุ่น, และผื่นจากความแห้งในผู้สูงอายุ
  • การดูแลเบื้องต้น ควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระคายเคือง ประคบเย็น งดแต่งหน้า และพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น
  • การเลือกสกินแคร์ ควรใช้ผลิตภัณฑ์อ่อนโยน ปราศจากน้ำหอม/แอลกอฮอล์ และมีส่วนผสมที่ช่วยเสริมเกราะผิว
  • การรักษา แบ่งเป็นยาทาและยารับประทาน โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางผิวหนัง
  • การป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ ต้องดูแลสุขภาพผิวอย่างต่อเนื่อง เลี่ยงสิ่งกระตุ้น และใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผิวแพ้ง่าย
  • ควรพบแพทย์ หากผื่นไม่หายภายใน 5–7 วัน, ลุกลามเร็ว หรือส่งผลต่อชีวิตประจำวัน

ผื่นขึ้นหน้าคืออะไร?

ผื่นขึ้นหน้า คือ อาการของผิวหนังรูปแบบหนึ่งที่เป็นผื่นแดง ตุ่มเล็ก และบางคนอาจะมีผื่นร่วมกับอาการแสบคันได้ ซึ่งการที่ผื่นขึ้นเป็นตุ่มบนใบหน้าจึงมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็น สิว และมีการดูแลรักษาไม่ถูกต้อง จึงอาจทำให้ผื่นขึ้นมาเยอะขึ้นได้ โดยวิธีสังเกตผื่นคือ ผื่นจะเกิดขึ้นหลายๆ ตุ่ม ในบริเวณใกล้ๆ เป็นวงกัน บางครั้งอาจรู้สึกแสบร้อนได้ และผื่นจะเพิ่มขึ้นได้ถ้าผิวสัมผัสกับเหงื่อ หรือโดนแดดแรงๆ ค่ะ

สาเหตุของผื่นขึ้นหน้าที่พบบ่อย

ผื่นบนใบหน้าเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งสิ่งกระตุ้นจากภายนอกไปจนถึงปัจจัยภายในที่ทำให้มีผื่นขึ้นมาบนใบหน้า โดยสาเหตุที่ทำให้เป็นผื่นมีดังนี้ 

ผิวแพ้สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ผิวหน้า

การแพ้สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นครีมบำรุง ครีมกันแดด เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ส่วนผสมบางอย่างในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เช่น น้ำหอม พาราเบน หรือสารผลัดเซลล์ผิว อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือกระตุ้นการอักเสบของผิวจึงเกิดผื่นแดง ผิวลอก ตุ่มเล็กขึ้นมาในบริเวณที่ใช้

ผื่นจากภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)

โรคภูมิแพ้ผิวหนังอาจทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังเป็นภาวะที่เกิดจากพันธุกรรม และระบบภูมิคุ้มกันที่ไวผิดปกติ ส่งผลให้ผิวหนังมีอาการแห้ง คัน และอักเสบได้ง่าย จนเกิดผื่นขึ้นมาโดยเฉพาะในบริเวณที่ผิวบาง เช่น แก้ม ข้างจมูก และคอ แต่จะเป็นๆ หาย ขึ้นอยู่ว่าได้สัมผัสสิ่งกระตุ้นอย่าง ฝุ่น แสงแดด อากาศเปลี่ยน

ผื่นจากเชื้อรา แบคทีเรีย หรือไรขนบนใบหน้า

เชื้อรา Malassezia, แบคทีเรีย Staphylococcus aureus หรือไรขนบนใบหน้า สามารถทำให้เกิดผื่นบนใบหน้าได้ โดยเฉพาะคนที่ผิวมันหรือภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งเชื้อรามักก่อให้เกิดผื่นที่มีลักษณะเป็นปื้นแดง มีขุย และคัน ในขณะที่การติดเชื้อแบคทีเรียมักทำให้ผื่นลุกลามเป็นตุ่มหนอง ส่วนไรขนพบมากในผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง Rosacea ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและระคายเคืองได้

โรคผิวหนังเรื้อรัง เช่น Rosacea และ Seborrheic Dermatitis

Rosacea เป็นโรคผิวหนังที่พบในผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้หญิงวัยกลางคน มีลักษณะเด่นคือหน้าแดงง่าย โดยเฉพาะบริเวณแก้ม จมูก และหน้าผาก อาจมีเส้นเลือดฝอยมองเห็นชัดร่วมกับตุ่มแดงหรือหนอง ซึ่งอาจเกิดจากไหลเวียนของเลือด ภูมิคุ้มกัน ปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อม
และ Seborrheic Dermatitis หรือผื่นผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมัน มักเกิดในบริเวณที่มีต่อมไขมันหนาแน่น เช่น ข้างจมูก หว่างคิ้ว และหนังศีรษะ ผื่นมักเป็นขุย รู้สึกคัน และเกิดซ้ำเป็นระยะ
เจาะลึก : ไขมันที่จมูก (Sebaceous Filament) คืออะไร ทำไมถึงมี กำจัดอย่างไร

ปัจจัยภายนอก เช่น มลภาวะ อากาศ แสงแดด

สิ่งแวดล้อมรอบตัวสามารถส่งผลต่อผิวหน้าโดยตรง เช่น ฝุ่นละออง PM2.5 ควันรถ ควันบุหรี่ หรือแสงแดด กระตุ้นให้ผิวระคายเคืองและเกิดผื่นได้โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวบอบบาง หรือเกราะป้องกันผิวบอบบาง

ผื่นจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น มีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือวัยหมดประจำเดือน อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดผื่นบริเวณใบหน้า

ผื่นจากยาบางชนิด

ยาบางประเภท เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน ยาปฏิชีวนะ ยาต้านอักเสบ สามารถกระตุ้นให้เกิดผื่นบนใบหน้าได้เช่นกัน ผู้ที่ใช้ยาเหล่านี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
เจาะลึก : ผิวแพ้สเตียรอยด์ ลักษณะแบบไหน เกิดจากอะไร รักษาอย่างไรดีให้หาย

ปัจจัยทางพันธุกรรม

โรคบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคลูปัส หรือโรคสะเก็ดเงิน อาจส่งผลให้เกิดผื่นที่ใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณแก้มและจมูก ลักษณะผื่นจะเป็นปื้นแดง ขอบชัด หรือมีลักษณะเป็นผื่นแพ้แสง หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและดูแลที่เหมาะสม อาจลุกลามไปยังระบบอื่นของร่างกาย

ผื่นจากการติดเชื้อ หรือโรค

  • งูสวัด เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของผื่นเฉียบพลันที่ใบหน้า เกิดจากเชื้อไวรัสที่แฝงตัวในร่างกาย และถูกกระตุ้นเมื่อภูมิคุ้มกันลดลงมักมีอาการปวดแสบปวดร้อน ร่วมกับผื่น หรือตุ่มน้ำใสตามแนวเส้นประสาท
  • โรคมะเร็งผิวหนังบางชนิด เช่น CTCL แม้พบได้น้อย แต่ก็เป็นสาเหตุที่ไม่ควรมองข้ามหากผื่นมีลักษณะเรื้อรัง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบทั่วไป

ผื่นขึ้นหน้าเป็นแบบไหน

อาการแบบไหนที่เข้าข่ายผื่นขึ้นหน้า

เมื่อเกิดผื่นขึ้นบนใบหน้า หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงอาการระคายเคืองผิวเล็กน้อย แต่จริงๆ แล้วผื่นหน้าอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพผิว โดยอาการที่เข้าค่ายผื่นขึ้นหน้ามีดังนี้

  • มีผื่นแดง ผิวหน้ามีสีแดงขึ้นกว่าปกติ โดยอาจแดงเป็นจุด กระจายเป็นแผ่น หรือมีขอบเขตชัดเจน อาจเกิดเฉพาะจุด เช่น รอบจมูก แก้ม คาง หรือทั่วทั้งใบหน้า และมีตุ่มเล็กๆ ในบริเวณผิวที่แดง
  • มีอาการคัน ผื่นบางชนิดจะทำให้รู้สึกคันมาก โดยเฉพาะผื่นที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ การเกาอาจทำให้ผื่นแย่ลง และเกิดรอยถลอกหรือการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้
  • มีตุ่มน้ำใสหรือหนอง ในบางกรณี เช่น การติดเชื้อ หรือผื่นอักเสบรุนแรง อาจมีตุ่มน้ำเล็ก ๆ หรือกลายเป็นตุ่มหนอง อาการนี้มักพบในภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย หรือจากการระคายเคืองอย่างรุนแรง
  • ผิวลอกเป็นขุย หรือเป็นแผ่น ถ้าเป็นผื่นจากผิวแห้งจัด หรือโรคเซ็บเดิร์ม จะทำให้ผิวลอกออกเป็นขุย มีขนาดเล็กหรือเป็นแผ่นบาง อาจเห็นเป็นคราบมัน หรือขุยสีเหลืองปะปน
  • ผิวตกสะเก็ดหรือเป็นปื้นหนา หากผื่นเรื้อรังหรือมีการอักเสบต่อเนื่อง อาจกลายเป็นปื้นหนา ตกสะเก็ดคล้ายสะเก็ดเงิน พบได้ในผู้ที่มีโรคผิวหนังเรื้อรัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน หรือโรคลูปัส

ผื่นขึ้นหน้ากับช่วงวัย แตกต่างกันอย่างไร?

ไม่ใช่ทุกคนที่มีผื่นจะมีสาเหตุเหมือนกัน ความเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา ฮอร์โมน พฤติกรรมการใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อมรอบตัวล้วนมีอิทธิพลต่อโอกาสการเกิดผื่นในแต่ละช่วงวัย ดังนี้

ผื่นในวัยเด็ก

เด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วงอายุต่ำกว่า 5 ปี มักมีผิวหนังที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ชั้นป้องกันผิวยังบางและมีความชุ่มชื้นต่ำกว่าผู้ใหญ่ จึงไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ได้ง่าย โดยผื่นในเด็กมักพบที่แก้ม ลำคอ และข้อพับ มักมีอาการผิวแดง คัน บางรายอาจมีขุยร่วมด้วย อาการจะเป็นๆ หายๆ และกำเริบง่ายหากสัมผัสสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่น เหงื่อ หรือผ้าเนื้อหยาบ

ผื่นในวัยรุ่น 

ในช่วงวัยรุ่นร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่กระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันใต้ผิวหนังอย่างชัดเจน จึงพบผื่นลักษณะคล้ายสิว และผื่นจากการอุดตันของรูขุมขนได้บ่อย เช่น สิวอักเสบ และสิวผด หรือผื่นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะกับผิว โดยจะพบที่บริเวณหน้าผาก คาง หรือบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ข้างจมูก และคาง

ผื่นในวัยทำงาน

วัยทำงานต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงมากมาย เช่น ความเครียดเรื้อรัง แสงแดด มลภาวะในเมือง ฝุ่น PM 2.5 รวมถึงการแต่งหน้าและใช้หน้ากากอนามัยตลอดวัน สิ่งเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดผื่นบนใบหน้าได้ในหลากหลายรูปแบบ โดยผื่นที่พบบ่อยจะเป็นผื่นแดงลอกเป็นขุย ตุ่มผดผื่นบริเวณแก้มและคาง หรือผื่นจากการเสียดสีของหน้ากากอนามัย 

ผื่นในผู้สูงอายุ 

เมื่อเข้าสู่วัยชราผิวหนังจะบางลงตามวัย เกิดการสูญเสียไขมันใต้ผิวหนัง ผิวแห้ง และการเก็บความชุ่มชื้นในผิวลดลงทำให้มีแนวโน้มเกิดผื่นหรือการระคายเคืองได้ง่าย แม้จากสิ่งกระตุ้นเพียงเล็กน้อย โดยมักเป็นผื่นลอก คัน แดง และอาจมีอาการแสบร่วมด้วยเมื่อผิวแห้งมากหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งหากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือใช้ยาบางชนิดต่อเนื่อง อาจทำให้ผิวเปลี่ยนแปลงหรือติดเชื้อได้ง่ายกว่าวัยอื่น

วิธีดูแลเบื้องต้นเมื่อมีผื่นขึ้นหน้า

เมื่อใบหน้าเกิดผื่น ไม่ว่าจะเป็นผื่นแดง คัน ลอก หรือระคายเคือง ควรรีบดูแล เพราะปล่อยไว้อาจทำให้อาการลุกลามหรือกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้ง่าย โดยมีวิธีดูแลดังนั้น

  • หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อการระคายเคืองทันที เช่นผลิตภัณฑ์ที่มีความรุนแรง ผลัดเซลล์ผิวทำให้ผิวบาง สามารถทำให้ผื่นที่ขึ้นมาบนใบหน้าอาการรุนแรงขึ้น ลุกลามไปในบริเวณอื่นๆ ได้ และยังอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่น ดังนั้นควรหยุดผลิตภัณฑ์ไปก่อน ควรรอให้ผิวกลับมาดีขึ้นก่อนถึงจะกลับมาใช้
  • ประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม แดง และระคายเคือง เพราะการประคบเย็นจะช่วยลดอาการอักเสบได้ดี โดยประคบเย็นลงไปในบริเวณที่มีผื่นประมาณ 10–15 นาที วันละ 2–3 ครั้ง จะช่วยลดอาการบวมแดง ปลอบประโลมผิว ลดความรู้สึกแสบร้อนทำให้ความรู้สึกผ่อนคลาย แต่ไม่ควรใช้น้ำแข็งประคบโดยตรง เพราะอาจทำให้ผิวที่อักเสบยิ่งระคายเคืองมากขึ้น
  • ห้ามเกา แกะ หรือทายาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เมื่อรู้สึกคันหรือระคายผิวไม่ควรเกา เพราะอาจทำให้ผิวเกิดแผล ติดเชื้อ และทิ้งรอยดำได้ในภายหลัง รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ยาทาผิว หรือยากลุ่มสเตียรอยด์โดยไม่ผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ เพราะแม้จะเห็นผลในระยะสั้น แต่ส่งผลเสียต่อผิวระยะยาว
  • ทำความสะอาดผิวหน้าอย่างอ่อนโยน ผิวที่มีผื่นต้องการการดูแลอย่างอ่อนโยนจึงควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่ไม่มีน้ำหอม แอลกอฮอล์ หรือสารกัดผิว และควรมีค่าความเป็นกรดด่างใกล้เคียงกับผิว pH ประมาณ 5–5.5 เพื่อไม่ไปรบกวนสมดุลผิว
  • งดการมาส์กหน้า พอกหน้า หรือสครับผิว เพราะมาส์กหน้าแบบแผ่นบางครั้งอาจมีน้ำหอม สารกันเสีย หรือสารบำรุงเข้มข้นผสมอยู่ ซึ่งผิวที่อ่อนแออาจรับไม่ไหว และกระตุ้นให้ผื่นแย่ลง และควรหยุดสครับผิว หรือใช้กรดผลัดเซลล์ผิวต่างๆ 
  • พบแพทย์ผิวหนัง หากอาการไม่ดีขึ้น หากดูแลเบื้องต้นแล้วผื่นยังไม่ลดลง มีผื่นกระจายลุกลาม บวมแดงมาก หรือมีไข้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อประเมินปัญหา และทำการรักษาได้อย่างถูกต้องตรงจุด

เลือกสกินแคร์อย่างไร เมื่อมีผื่นขึ้นหน้า?

สกินแคร์บางตัวถึงแม้จะมีผื่นขึ้นมาบนใบหน้าก็สามารถใช้ต่อได้ และบางตัวยัช่วยปลอบประโลมผิว ทำให้ผิวแข็งแรง ลดการเกิดผื่นได้ 

หลีกเลี่ยงสกินแคร์ที่มีน้ำหอม แอลกอฮอล์ และสารผลัดเซลล์ผิว

ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม แอลกอฮอล์ หรือกรดที่ใช้ผลัดเซลล์ผิว เช่น AHA, BHA, เรตินอล และวิตามินซีในความเข้มข้นสูงอาจกระตุ้นให้ผิวระคายเคืองมากขึ้น ยิ่งผิวที่กำลังอ่อนแอมีผื่น สามารถทำให้ผื่นลุกลาม เกิดผื่นเยอะขึ้นได้

เลือกใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มเวชสำอางหรือสูตร Hypoallergenic

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเวชสำอาง ผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย หรือผ่านการทดสอบโดยแพทย์ผิวหนังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ลดการระคายเคือง และยังช่วยปลอบประโลมผิวให้หายแดง ลดผดผื่น

เมื่อผิวขาดน้ำผิวจะอ่อนแอลงทำให้เกิดอาการระคายเคืองง่าย และรับมือกับสิ่งกระตุ้นได้น้อยลง การใช้มอยส์เจอไรเซอร์ จะช่วยฟื้นฟูเกราะป้องกันผิวและลดอาการคันหรือแสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บำรุงผิวด้วยส่วนผสมที่ช่วยปลอบประโลมและเสริมปราการผิว

ในการเลือกผลิตภัณฑ์บำรุง ควรมองหาส่วนผสมที่ช่วยปลอบประโลมผิว ลดอาการอักเสบ และคืนความสมดุลให้กับผิว เช่น

  • กลีเซอรีน (Glycerin) เป็นสารที่ทำหน้าที่เป็นสารดูดความชื้น ช่วยดึงน้ำเข้าสู่ผิวและป้องกันการสูญเสียความชุ่มชื้น
  • สังกะสี (Zinc) เป็นสารที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ และช่วยสมานผิวในกรณีที่มีผื่นหรือตุ่มเล็ก ๆ
  • น้ำมันจากพืชธรรมชาติ เช่น Argan Oil หรือ Sunflower Oil ช่วยปลอบประโลม ฟื้นฟู และให้กรดไขมันจำเป็นที่ช่วยเสริมเกราะป้องกันผิวอย่างเป็นธรรมชาติ

การรักษาผื่นขึ้นหน้าที่ได้ผล

หากผื่นบนใบหน้าไม่ทุเลาลงหลังจากดูแลเบื้องต้น เช่น การหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจระคายเคือง หรือลดการสัมผัสสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ แล้ว แสดงว่าอาจเกิดจากระบบภายในร่างกาย การเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผิวหนังจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ดังนี้

การใช้ยาทาภายใต้การดูแลของแพทย์

เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นผื่นที่มีสาเหตุเฉพาะ เช่น ผื่นภูมิแพ้ ผื่นเซ็บเดิร์ม หรือผื่นระคายสัมผัส อาจแนะนำให้ใช้ยาทาเฉพาะจุด ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับลักษณะของผื่น

  • ยาทาในกลุ่มสเตียรอยด์ จะใช้ในช่วงสั้นเพื่อควบคุมการอักเสบของผิว เช่น ลดผื่นแดง คัน หรือบวม โดยต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น เพื่อป้องกันผลข้างเคียง เช่น ผิวบางหรือเส้นเลือดฝอยขยาย
  • ยาทาในกลุ่มต้านภูมิแพ้หรือยาปรับภูมิ เช่น Tacrolimus หรือ Pimecrolimus นิยมใช้ในผื่นที่มีแนวโน้มเป็นภูมิแพ้ และเหมาะกับบริเวณใบหน้าที่ผิวบอบบางมาก เพราะไม่ทำให้ผิวบางเหมือนสเตียรอยด์
  • ยาทาฆ่าเชื้อ หากผื่นมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัส แพทย์อาจจ่ายยาทาเฉพาะที่เพื่อฆ่าเชื้อร่วมกับการลดการอักเสบ

การรับประทานยาเฉพาะ

กรณีที่ผื่นมีลักษณะลุกลามกว้าง เกิดซ้ำเรื้อรัง หรือมีอาการคันและอักเสบมาก การใช้ยาทาอาจไม่เพียงพอ แพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาเพื่อควบคุมอาการจากภายใน เช่น

  • ยาต้านฮีสตามีน เพื่อลดอาการคันในผู้ที่มีผื่นภูมิแพ้ หรือผื่นแพ้สัมผัส
  • ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน หากผื่นมีการติดเชื้อจากแบคทีเรีย
  • ยาต้านเชื้อรา ในกรณีผื่นที่เกิดจากเชื้อรา เช่น จากเซ็บเดิร์มที่ลุกลาม
  • ยากดภูมิคุ้มกัน ในกรณีที่มีโรคผิวหนังเรื้อรังรุนแรง เช่น สะเก็ดเงิน หรือลูปัส ซึ่งต้องใช้อยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดเท่านั้น

วินิจฉัยโดยแพทย์ผิวหนังเพื่อหาสาเหตุแท้จริง

ผื่นบนใบหน้าอาจมีลักษณะภายนอกคล้ายกัน แต่สาเหตุแท้จริงของแต่ละคนอาจต่างกันโดยสิ้นเชิง การวินิจฉัยที่แม่นยำคือขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้ผื่นหาย ไม่มีผื่นเรื้อรัง โดยบางครั้งแพทย์จะมีการให้ตรวจพิเศษ เช่น

  • Patch test เป็นการทดสอบการแพ้ทางผิวหนัง เพื่อตรวจว่าสารใดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นแพ้
  • Skin scraping เป็นการเก็บตัวอย่างผิวเพื่อดูว่ามีเชื้อรา แบคทีเรีย หรือไรขนใต้ผิวหนังเป็นต้นเหตุหรือไม่
  • ตรวจเลือด เป็นการตรวจระบบภูมิคุ้มกันว่าผื่นเกี่ยวข้องกับโรคภายใน เช่น ลูปัส หรือโรคแพ้แสง หรือไม่

ผื่นขึ้นหน้าต่างจากสิวอย่างไร?

แม้ผื่นและสิวจะมีลักษณะคล้ายกัน เช่น ตุ่มแดง ตุ่มนูน แต่ต้นเหตุและวิธีดูแลต่างกัน เพราะสิวเกิดจากการอุดตันของรูขุมขน ร่วมกับความมันและแบคทีเรีย มักจะมีหัวชัดเจน ไม่มีอาการคันและพบที่หน้าผาก จมูก หรือคาง ส่วนผื่นมักเกิดจากการแพ้ ระคายเคือง หรือภูมิแพ้ผิวหนัง ลักษณะเป็นปื้นแดง กระจาย ไม่มีหัว อาจลอก คัน หรือแสบ มักมีอาการ คัน แดง หรือไวต่อแสงร่วมด้วย การใช้ยารักษาสิวกับผื่นอาจยิ่งทำให้ผิวแย่ลง หากไม่แน่ใจควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่สงสัยและปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อวินิจฉัยให้ชัดเจน

วิธีป้องกันไม่ให้ผื่นขึ้นหน้า

ป้องกันผื่นขึ้นหน้าไม่ให้เกิดซ้ำได้อย่างไร?

แม้ผื่นจะหายแล้ว แต่หากไม่ดูแลผิวให้ดี ผื่นก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก การป้องกันจึงสำคัญไม่แพ้การรักษา และควรเริ่มจากการดูแลพื้นฐานที่ถูกต้อง

  • เสริมความแข็งแรงให้ผิว ใช้สกินแคร์ที่ช่วยฟื้นฟูเกราะป้องกันผิว เช่น มอยส์เจอไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของ Ceramides, Glycerin, Zinc หรือ Argan Oil เพื่อให้ผิวชุ่มชื้น ไม่แห้งลอก และทนต่อสิ่งกระตุ้นได้ดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายผิว งดนอนดึก ล้างหน้าบ่อย หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอม แอลกอฮอล์ และกรดผลัดผิว รวมถึงอย่าลืมทาครีมกันแดดทุกวัน เพราะแสงแดดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้ผื่นกำเริบได้ง่าย
  • สังเกตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ หากผื่นกลับมาเป็นซ้ำบ่อย ควรบันทึกว่าใช้ผลิตภัณฑ์ใดในช่วงนั้น เพื่อหาตัวกระตุ้นและหลีกเลี่ยงในอนาคต รวมถึงหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่ผ่านการทดสอบกับผิวของคุณ

ถ้าเป็นผื่นขึ้นหน้าเมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ผื่นสามารถหายได้เอง แต่ถ้าปัญหาผื่นบางครั้งก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบไปพบแพทย์ หากมีปัญหาผื่นดังนี้

  • ผื่นไม่หายภายใน 5–7 วัน แม้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นและดูแลเบื้องต้นแล้ว
  • อาการรุนแรงขึ้น เช่น คันมาก แดง บวม มีหนอง หรือแสบปวด
  • ผื่นลุกลามเร็ว เกิดเฉียบพลันและขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว
  • มีอาการอื่นร่วม เช่น ไข้ ปวดข้อ ต่อมน้ำเหลืองโต หรืออ่อนเพลีย
  • เป็นซ้ำบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรตรวจหาต้นตอ เช่น แพ้สารบางชนิด
  • ผื่นกระทบชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้เสียความมั่นใจ หรือไม่สามารถแต่งหน้าได้
  • ไม่รู้ว่าเป็นผื่นแบบไหน และไม่รู้ว่าต้องดูแลรักษาผื่นอย่างไร

คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับ ผื่นขึ้นหน้า

Q: ผื่นขึ้นหน้าควรใช้โฟมล้างหน้าหรือคลีนเซอร์แบบไหนดีที่สุด?
A: ควรใช้คลีนเซอร์สูตรอ่อนโยน ไม่มีน้ำหอม แอลกอฮอล์ มีค่า pH ที่เหมาะกับผิว และมีส่วนผสมปลอบประโลมผิว

Q: ผื่นขึ้นหน้า ต้องงดแต่งหน้าหรือไม่?
A: ควรงดแต่งหน้าชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการระคายเคือง และให้ผิวได้พักฟื้นอย่างเต็มที่

Q: การกินอาหารหรือดื่มน้ำ มีผลต่อผื่นขึ้นหน้าหรือไม่?
A: อาจมีผลถ้ากินอาหารที่กระตุ้นภูมิแพ้ และการดื่มน้ำน้อยอาจทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองง่ายขึ้น.

Q: ผื่นขึ้นหน้าแบบไม่มีอาการคัน อาจเป็นอะไรได้บ้าง?
A: ผื่นบางครั้งก็ไม่ได้คัน เนื่องจากไม่มีอาการระคายเคืองร่วมด้วย ผิวไม่แห้งลอกเป็นขุย ทำให้ไม่รู้สึกคัน

Q: ใช้น้ำเกลือล้างหน้าเวลาเป็นผื่นได้ไหม?
A: ได้ หากเป็นน้ำเกลือสะอาดปราศจากเชื้อ เพราะช่วยลดการระคายเคืองและไม่กระตุ้นผิวให้อักเสบ แต่ถ้าใช้บ่อยอาจทำให้หน้าแห้ง

Q: หากใช้ครีมแล้วผื่นแย่ลง ควรทำอย่างไร?
A: ควรหยุดใช้ทันที และใช้น้ำล้างหน้าออกให้สะอาด และปรึกษาแพทย์หากอาการมีอาการผื่นลุกลามรุนแรง 

Q: ผื่นขึ้นหน้าช่วงมีประจำเดือน ถือว่าเป็นเรื่องปกติไหม?
A: สามารถเกิดได้ตามปกติจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย แต่ถ้าเป็นผื่นรุนแรง และเป็นประจำในช่วงเป็นประจำเดือนควรปรึกษาแพทย์

Q: ผื่นขึ้นหน้าจากแมสก์ (Maskne) มีวิธีป้องกันหรือไม่?
A: เปลี่ยนมาใช้แมสก์ที่ระบายอากาศได้ดี เปลี่ยนแมสก์บ่อยๆ ไม่ใช้ซ้ำ ล้างหน้าหลังถอด และใช้สกินแคร์ที่อ่อนโยน

สรุป

ปัญหาผื่นขึ้นหน้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนทั้งจากปัจจัยภายนอก เช่น สภาพอากาศ ฝุ่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ หรือปัจจัยภายในอย่างฮอร์โมน โรคบางอย่าง ซึ่งผื่นสามารถรักษาให้หายได้แต่ควรจะรู้ก่อนว่าผื่นเกิดจากสาเหตุไหน ถ้าเป็นจากปัจจัยภายนอกยังรักษาดูแลตัวเองได้ แต่ถ้าจากปัจจัยภายใน หรือมีผื่นรุนแรงควรรีบพบแพทย์ หากใครที่ต้องการแก้ไขปัญหาผื่นสามารถเข้ามาปรึกษากับแพทย์ที่มีประสบการณ์ให้คำแนะนำอย่างตรงจุดได้ที่ Vincent Clinic Aesthetic ค่ะ

Scroll to Top