แม้รอยแตกลายจะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดหรืออันตรายทางร่างกาย แต่กลับเป็นปัญหาผิวที่สร้างความไม่มั่นใจให้กับหลายคน โดยเฉพาะเมื่อรอยเหล่านี้ปรากฏในจุดที่มองเห็นได้ชัด เช่น หน้าท้อง สะโพก ต้นขา หรือแขน บทความนี้จะพาคุณไปเข้าใจลึกถึงสาเหตุของการเกิดรอยแตกลาย รวมถึงวิธีดูแลและรักษาแบบต่าง ๆ ที่สามารถช่วยฟื้นฟูผิวให้กลับมาเรียบเนียนและดูสุขภาพดีได้อีกครั้ง
ผิวแตกลาย รอยแตกลายคืออะไร
ผิวแตกลาย (Stretch Marks) หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “รอยแตกลาย” คือร่องรอยที่ปรากฏบนผิวหนังซึ่งเกิดจากการที่ผิวถูกยืดหรือหดตัวเร็วเกินไปจนทำให้โครงสร้างของผิวหนังชั้นใน โดยเฉพาะคอลลาเจนและอีลาสติน เกิดการฉีกขาด ส่งผลให้เมื่อผิวสมานตัว จะเกิดเป็นรอยยาวบนผิว สัมผัสแล้วจะรู้สึกถึงความไม่เรียบเนียน บางครั้งอาจจรู้สึกคันรอยแตกลายได้
รอยแตกลาย ผิวแตกลาย เกิดจากอะไร
รอยแตกลาย หรือผิวแตกลาย คือรอยยาวหรือเส้นริ้วที่ปรากฏบนผิวหนัง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังมีการยืดหรือหดตัวเร็วกว่าที่เนื้อเยื่อผิวจะสามารถปรับตัวได้ทัน การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเหล่านี้ส่งผลให้โครงสร้างภายในของผิว โดยเฉพาะเส้นใยคอลลาเจนและอีลาสตินที่มีหน้าที่ยืดหยุ่นและพยุงผิว เกิดการฉีกขาด ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเสียความยืดหยุ่น และทิ้งร่องรอยเป็นเส้นแตกลายตามมา โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดผิวแตกลายมีดังนี้
- การตั้งครรภ์ หน้าท้องที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในระหว่างตั้งครรภ์ทำให้ผิวตึงขึ้นจนเกิดรอยแตกลาย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่สองถึงสาม
- การเติบโตในวัยรุ่น วัยรุ่นที่อยู่ในช่วงกำลังโต อาจมีร่างกายที่ขยายอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องของความสูงและน้ำหนัก ทำให้ผิวอาจไม่สามารถยืดตัวตามทัน
- น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการลดหรือเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผิวเกิดการยืดหรือหดตัวในเวลาสั้น ๆ
- กล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น ผู้ที่ออกกำลังกายและมีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผิวหนังที่ห่อหุ้มกล้ามเนื้อจะถูกยืดอย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิดรอยแตกลายได้
- พันธุกรรมและฮอร์โมน บางคนมีแนวโน้มที่จะเกิดรอยแตกลายง่ายกว่าคนอื่น เนื่องจากโครงสร้างผิวและความยืดหยุ่นอาจได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
- การใช้ยาสเตียรอยด์ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ทั้งในรูปแบบกินหรือทา อาจทำให้ผิวบางลงและเสียความยืดหยุ่น จนเสี่ยงต่อการเกิดรอยแตกลาย
- ปัญหาสุขภาพบางประเภท โรคบางชนิด เช่น คุชชิงซินโดรม หรือมาร์แฟนซินโดรม ซึ่งส่งผลต่อฮอร์โมนหรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ก็อาจทำให้ผิวมีโอกาสแตกลายได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
- ผิวขาดสารอาหารที่จำเป็น การขาดวิตามินซี วิตามินอี หรือสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ ส่งผลต่อความแข็งแรงของผิวหนัง ทำให้โครงสร้างผิวอ่อนแอและเกิดรอยแตกลายได้ง่าย
รอยแตกหลายมีกี่ประเภท
รอยแตกลายมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามระยะเวลาและลักษณะที่เกิดขึ้นดังนี้
รอยแตกลายสีแดง (Striae Rubra)
เป็นรอยแตกลายที่เพิ่งเกิดใหม่ มักมีสีแดง ชมพู หรือม่วงอมน้ำตาล เนื่องจากยังมีเส้นเลือดใต้ผิวหนังที่ยังไม่ถูกทำลาย รอยชนิดนี้อาจมีลักษณะนูนเล็กน้อย และบางรายอาจรู้สึกคันบริเวณที่แตกลาย ข้อดีคือสามารถฟื้นฟูและรักษาได้ง่ายกว่ารอยแตกลายระยะหลัง หากดูแลอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยให้รอยจางลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รอยแตกลายสีขาว (Striae Alba)
เป็นรอยแตกลายที่เกิดมานานแล้ว สีของรอยจะจางลงกลายเป็นสีขาวหรือสีซีดเมื่อเทียบกับผิวโดยรอบ เนื่องจากเส้นเลือดใต้ผิวเริ่มจางหาย และร่องรอยเริ่มยุบตัวลงในผิว การรักษารอยแตกลายสีขาวจะยากกว่าแบบสีแดง และมักต้องใช้เวลานานหรือใช้วิธีเฉพาะทางร่วมด้วยเพื่อให้เห็นผล
รอยแตกลายจากการยืดตัว (Striae Distensae)
เป็นลักษณะของรอยแตกลายที่เกิดจากผิวหนังถูกยืดออกอย่างรวดเร็ว เช่น ในช่วงวัยรุ่นที่ร่างกายเจริญเติบโตเร็ว หรือคนที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้น รอยจะเป็นเส้นขนานไปตามแนวการยืดของผิว
รอยแตกลายที่มีผิวฝ่อร่วมด้วย (Striae Atrophicans)
พบในผู้ที่มีผิวบาง ผิวแห้ง หรือผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน รอยชนิดนี้นอกจากจะมีลักษณะเป็นเส้นขนานแล้วยังมีลักษณะของผิวที่ยุบตัวและบางลง จึงดูเด่นชัดมากกว่ารอยแตกลายชนิดอื่น มักพบในผู้หญิงหลังคลอดหรือคนที่น้ำหนักขึ้นลงเร็ว
รอยแตกลายพบบริเวณไหนได้บ้าง
รอยแตกลายเป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อยในหลายช่วงวัย โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้รอยแตกลายจะสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย แต่ก็มีบางบริเวณที่พบได้บ่อยเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นจุดที่มีการขยายหรือยืดของผิวมากกว่าบริเวณอื่น ๆ ได้แก่
หน้าท้อง
หน้าท้องแตกลายพบได้มากในผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะผิวหนังต้องขยายตัวรองรับมวลที่เพิ่มขึ้นในเวลาอันสั้น
สะโพก
เป็นจุดที่มีไขมันสะสมสูง และมักมีการเปลี่ยนแปลงขนาดอย่างชัดเจนเมื่อร่างกายมีน้ำหนักขึ้นหรือลดลง จึงมีโอกาสเกิดสะโพกแตกลายได้บ่อย
ต้นขาและต้นแขน
ในช่วงวัยรุ่นหรือผู้ที่เริ่มออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ ผิวบริเวณนี้อาจถูกยืดออกอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อหรือไขมัน จึงเสี่ยงต่อการเกิดขาแตกลาย แขนแตกลาย
หน้าอก
มักพบในผู้หญิงช่วงวัยเจริญพันธุ์ หรือตอนตั้งครรภ์ที่ขนาดหน้าอกขยายอย่างรวดเร็ว รวมถึงผู้ที่เสริมหน้าอก ผิวหนังบริเวณนี้จะถูกยืดออกมากกว่าปกติ ทำให้นมแตกลาย หน้าอกแตกลาย
น่อง
แม้จะไม่ใช่จุดที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเป็นอันดับแรก แต่น่องก็สามารถเกิดรอยแตกลายได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
รอยแตกลายหายเองได้ไหม
รอยแตกลายสามารถจางลงได้บ่งประเภท แต่ไม่สามารถหายไปได้ทั้งหมดให้ผิวกลับมาเรียบเนียนโดยไม่ดูแล หรือรักษา ในช่วงที่รอยแตกลายเพิ่งเกิดใหม่ หรือที่เรียกว่ารอยแตกลายสีแดง ผิวยังมีการไหลเวียนเลือดที่ดี การรักษารอยแตกประเภทนี้รักษาได้ง่ายที่สุดสามารถหายได้ แต่ถ้าเป็นรอยแตกลายสีที่เป็นรอยเก่าอยู่บนผิวมานานผ่านกระบวนการสมานตัวของผิวมาแล้ว จะจางหายได้ยากต้องรักษาถึงจะค่อยๆ จางลง
วิธีรักษารอยแตกลายแบบเร่งด่วน
ปัจจุบันมีหลายวิธีที่ช่วยลดเลือนรอยแตกลายให้ดูจางลง สามารถเลือกได้ตามความรุนแรงของรอยแตกลายและลักษณะผิวของแต่ละคน โดยมีวิธีรักษารอยแตกลายเร่งด่วนดังนี้
รักษารอยแตกลายด้วยเลเซอร์
เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและรวดเร็ว โดยหลักการทำงานของเลเซอร์คือการส่งพลังงานลงสู่ชั้นผิว เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใหม่ ซ่อมแซมเซลล์ผิว และปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ
- Fraxel Laser เหมาะกับรอยแตกลายเก่าหรือรอยสีขาว ใช้คลื่นแสงแบบจุดเล็กเจาะลึกเข้าไปกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ในระดับลึก
- V-Beam Laser เหมาะสำหรับรอยแตกลายสีแดงหรือที่เพิ่งเกิด ช่วยลดความผิดปกติของเส้นเลือด และทำให้สีของรอยแตกลายจางลง
- Pico Laser ใช้พลังงานความเร็วสูงระดับ Picosecond เข้าไปกระตุ้นการฟื้นฟูผิวอย่างรวดเร็ว เห็นผลไวทั้งรอยใหม่ และเก่า
- Morpheus NEO ผสานเทคโนโลยีคลื่นวิทยุกับการเจาะผิวระดับตื้นและลึก เหมาะกับผู้ที่มีรอยแตกลายลึก หรือเรื้อรัง
- IPL เป็นการใช้แสงความเข้มข้นสูงยิงลงไปที่ผิว เหมาะสำหรับรอยแตกลายระยะเริ่มต้นหรือรอยสีแดง ช่วยให้สีผิวดูสม่ำเสมอมากขึ้น ควรทำต่อเนื่องประมาณ 5 ครั้งจึงจะเห็นผล
ฉีดเมโสรักษาผิวแตกลาย
เป็นการใช้เข็มขนาดเล็กฉีดวิตามิน สารอาหาร และตัวยาเข้าไปยังชั้นกลางของผิวโดยตรง จุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน ฟื้นฟูความชุ่มชื้น และซ่อมแซมเนื้อเยื่อผิวหนังที่แตกลาย ช่วยให้ผิวดูเรียบเนียนและรอยดูจางลง
กรอผิวด้วยเกร็ดผลึก
เป็นการขัดเซลล์ผิวชั้นนอกสุดที่เสื่อมสภาพให้หลุดออกด้วยผงคริสตัลละเอียด ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์ผิวใหม่ พร้อมกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้รอยแตกลายจางลงและผิวดูเรียบขึ้น เหมาะกับรอยแตกลายไม่ลึกมาก
Microneedling
ใช้เข็มขนาดเล็กเจาะลงในผิวหนังระดับตื้นเพื่อสร้างบาดแผลขนาดเล็ก ทำให้ร่างกายกระตุ้นการซ่อมแซมตัวเองโดยการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินใหม่ วิธีนี้ได้รับความนิยมสูงเพราะปลอดภัยและเห็นผลจริง เหมาะกับทุกสีผิวและสามารถรักษาได้ทั้งรอยแตกลายแดง และรอยแตกลายขาว
Carboxytherapy
การฉีดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปใต้ผิวหนังในบริเวณที่มีรอยแตกลาย เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด กระตุ้นการฟื้นฟูผิว และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน วิธีนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่องประมาณ 3–5 ครั้ง และผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละบุคคล
คลื่นวิทยุ Radiofrequency – RF
ส่งคลื่นความร้อนลึกลงไปในผิวเพื่อกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน ทำให้ผิวกระชับและเรียบเนียนมากขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีรอยแตกลายร่วมกับผิวหย่อนคล้อย และยังช่วยลดเซลลูไลท์ในบริเวณใกล้เคียงได้ด้วย
Oxy Peel
เป็นการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบเจลร่วมกับมาสก์พิเศษ เพื่อกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว ลดรอยแตกลาย และฟื้นฟูผิวให้เนียนนุ่ม จุดเด่นคือทำแล้วไม่เจ็บ และเห็นผลตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ เหมาะกับคนที่กลัวการฉีดหรือทำหัตถการที่เจ็บ
วิธีรักษารอยแตกลายด้วยตัวเอง
รอยแตกลายอาจไม่ใช่ปัญหาด้านสุขภาพโดยตรง แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนรู้สึกไม่มั่นใจ โดยเฉพาะเมื่อต้องโชว์ผิว ปัจจุบันมีหลายวิธีที่สามารถดูแลและลดเลือนรอยแตกลายได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งการรักษาทางการแพทย์ ลองมาดูวิธีต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน
ทาครีมลดรอยแตกลายอย่างสม่ำเสมอ
เลือกครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ วิตามินอี หรือกรดผลไม้ AHA ซึ่งช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในผิว ทำให้ผิวมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ควรทาเป็นประจำทุกเช้า-เย็น โดยเน้นบริเวณที่มีรอยแตกลาย
ใช้ Retin-A
ครีมที่มีส่วนผสมของอนุพันธ์วิตามินเอ สามารถช่วยผลัดเซลล์ผิวและฟื้นฟูเนื้อเยื่อใต้ผิวได้ดี โดยเฉพาะกับรอยแตกลายใหม่ที่ยังเป็นสีแดงหรือชมพู แต่ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ในผู้ที่มีผิวบอบบาง
สครับผิวเพื่อผลัดเซลล์เก่า
การสครับผิวช่วยขจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพและกระตุ้นการสร้างผิวใหม่ ควรเลือกสูตรสครับที่อ่อนโยน เช่น ที่มีกรด AHA จากธรรมชาติ หรือสมุนไพรพื้นบ้าน และทำเพียงสัปดาห์ละ 1–2 ครั้ง เพื่อไม่ให้ผิวบางเกินไป
ใช้ส่วนผสมธรรมชาติบำรุงผิว
ใช้เจลว่านหางจระเข้ทาผิววันละ 2 ครั้ง จะช่วยให้ผิวชุ่มชื้นและลดการอักเสบ ใช้ไข่ขาวที่มีกรดอะมิโนและโปรตีนที่ช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูผิว และน้ำมันมะกอกอุดมด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผิว
บำรุงจากภายในด้วยอาหารที่ดีต่อผิว
การดูแลผิวจากภายในก็สำคัญควรรับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามิน A, C, D, E และโปรตีน เพื่อเสริมสร้างเซลล์ผิวใหม่ และรักษาความยืดหยุ่นของผิว ควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 1.5 – 2 ลิตร เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในผิว
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดรอยแตกลาย ผิวแตกลาย
แม้จะไม่สามารถป้องกันรอยแตกลายได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดรอยแตกลาย หรือช่วยให้ผิวแข็งแรงจนรองรับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยชะลอ หรือป้องกันไม่ให้รอยแตกปรากฏชัดขึ้นดังนี้
เติมความชุ่มชื้นให้ผิวเป็นประจำ
หมั่นทาโลชั่นหรือมอยส์เจอไรเซอร์ที่มีความเข้มข้นสูง โดยเฉพาะบริเวณที่เสี่ยงต่อการแตกลาย เช่น หน้าท้อง สะโพก ต้นขา และหน้าอก ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิก (HA), วิตามินอี หรือเชียร์บัตเตอร์ ซึ่งจะช่วยเสริมความยืดหยุ่นให้ผิว
ควบคุมน้ำหนักอย่างสมดุล
การที่น้ำหนักขึ้นหรือลดลงรวดเร็วเกินไป คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผิวหนังยืดหรือหดตัวมากเกินจำเป็น ส่งผลให้เกิดรอยแตกลายได้ง่าย ดังนั้นควรรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมโยโย่จากการอดอาหารหรือใช้ยาลดน้ำหนัก
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำวันละ 1.5 – 2 ลิตร จะช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้นจากภายใน ทำให้ผิวไม่แห้งและยืดหยุ่นมากขึ้น ลดความเสี่ยงของผิวฉีกขาดในระหว่างที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ช่วยควบคุมน้ำหนัก แต่ยังส่งเสริมให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดี ช่วยให้เซลล์ผิวได้รับสารอาหารและออกซิเจนมากขึ้น ส่งผลให้ผิวสุขภาพดีและยืดหยุ่นมากขึ้น
สครับผิวเพื่อผลัดเซลล์
การขัดผิวเบา ๆ สัปดาห์ละ 1–2 ครั้ง ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวและการสร้างเซลล์ใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ผิวเรียบเนียนและแข็งแรงขึ้น ควรเลือกสครับที่อ่อนโยน ไม่ระคายเคืองผิว
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างผิว เช่น วิตามินเอ วิตามินซี สังกะสี และซิลิคอน ที่มีในผัก ผลไม้ และโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน จะช่วยให้ผิวฟื้นตัวได้ดีและลดโอกาสการเกิดรอยแตกลาย
ดูแลเป็นพิเศษในช่วงตั้งครรภ์
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรเริ่มดูแลผิวตั้งแต่ไตรมาสแรก โดยทาครีมบำรุงบริเวณหน้าท้อง เต้านม และต้นขาเป็นประจำ เพื่อเตรียมผิวให้พร้อมรับการขยายตัวตามธรรมชาติ และควรควบคุมน้ำหนักให้ขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สรุป
รอยแตกลายเป็นปัญหาผิวที่เกิดจากการที่ผิวยืดตัวยางรวดเร็วจนไม่ทันตั้งแต่ โดยจะเกิดได้บ่อยในคนที่ตั้งครรภ์ น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น หรือลดลง ซึ่งรอยแตกลายสามารถแค่ไขให้จางลงได้หลากหลายวิธี หากต้องการแก้รอยแตกลายสามารถเข้ามาปรึกษาปัญหา และวิธีก่อนได้ที่ Vincent Skin